- การหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในผู้ชาย และการตรวจน้ำอสุจิ
ภาวะมีบุตรยากมีสาเหตุได้จากทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยร้อยละ 35 – 45 มีสาเหตุจากฝ่ายชาย ส่วนใหญ่เกิดจากตัวอสุจิเคลื่อนไหวช้า มีปริมาณตัวอสุจิน้อย หรือตัวอสุจิปร่างลักษณะผิดปกติ ดังนั้นขั้นตอนแรกของการตรวจฝ่ายชายคือการตรวจน้ำอสุจิ (Semen Analysis; SA) ซึ่งจะดูปริมาณอสุจิ ค่าความเป็นกรด-ด่าง ความเข้มข้นของตัวอสุจิ ลักษณะรูปร่างและการเคลื่อนไหวของ โดยการตรวจนี้จะอ้างอิงค่าปกติจากค่าที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดไว้เมื่อปี 2010 ถ้าหากผลตรวจผิดปกติ จะแนะนำให้ตรวจความผิดปกติของระบบอวัยวะสืบพันธุ์เพศชายอย่างละเอียดเพิ่มเติม
- การประเมินเวลาตกไข่ และการตรวจการทำงานของรังไข่ (ovarian reserve)
การทราบเวลาการตกไข่ในเพศหญิงและการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เป็นสิ่งสำคัญที่จะเพิ่มโอกาสในการมีบุตร ปัญหาการมีบุตรยากประมาณร้อยละ20 มีสาเหตุมาจากไม่มีการตกไข่หรือการตกไข่ไม่สมํ่าเสมอ สามารถตรวจการตกไข่ได้หลายวิธีเช่น การตรวจระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรน (Progesterone) ในเลือด การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound - TVUS) หรือใช้ชุดตรวจปัสสาวะเพื่อดูการตกไข่ (ตรวจหาฮอร์โมน LH)
ในคู่สมรสที่มีอายุมาก อาจต้องตรวจการทำงานของรังไข่ (ovarian reserve) โดยการตรวจนี้อาจมีประโยชน์ในผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือในกรณีที่สงสัยว่าปริมาณไข่ในรังไข่มีน้อย ซึ่งการตรวจนี้ทำได้หลายวิธีได้แก่ การดูระดับฮอร์โมนต่างๆในเลือด เช่น AMH (Anti-Mullerian Hormone), Inhibin B, FSH ในวันที่ 3 ของรอบเดือน หรือ การอัลตราซาวด์ดูจำนวนฟองไข่ในช่วงต้นของรอบเดือน (Antral Follicle Count; AFC)
- การประเมินท่อนำไข่และความผิดปกติในอุ้งเชิงกราน
ประมาณร้อยละ 30-40 ของหญิงที่มีบุตรยากมีสาเหตุมาจากท่อนำไข่มีการอุดตัน และมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน ท่อนำไข่อุดตันสามารถวินิจฉัยได้โดยการฉีดสารทึบรังสีและเอกซ์เรย์ (hysterosalpingogram; HSG) วิธีการตรวจทำโดยฉีดสารทึบรังสีผ่านปากมดลูกเข้าไปในมดลูกและท่อนำไข่ ซึ่งจะทำให้สามารถมองเห็นรูปร่างของมดลูกและท่อนำไข่ได้จากการเอ็กซเรย์ แต่ในกรณีที่สงสัยเรื่องพังผืดในอุ้งเชิงกรานด้วย การฉีดสีอาจเห็นไม่ชัดเจน การส่องกล้องผ่านทางหน้าท้องจะเห็นพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานได้ชัดเจนกว่า และยังสามารถฉีดสีดูการอุดตันของท่อนำไข่ได้พร้อมกันอีกด้วย (การส่องกล้องผ่านทางหน้าท้องจะต้องมีการดมยาสลบ) ทั้งนี้การส่องกล้องยังสามารถใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติในอุ้งเชิงกรานอื่น ๆ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูดเจริญผิดที่ (endometriosis) และเนื้องอกของกล้ามเนื้อมดลูก (myoma uteri)ได้อีกด้วย
ความผิดปกติทางโครงสร้างของมดลูกส่งผลต่อการมีบุตรยากได้เช่นกัน ความผิดปกติในโพรงมดลูกเช่น ติ่งเนื้อ พังผืด เนื้องอก สามารถวินิจฉัยได้โดยการอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด การฉีดสี (HSG) หรือ การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Hysteroscopy) ซึ่งการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกเป็นวิธีที่แม่นยำที่สุดในกรณีที่รอยโรคอยู่ในโพรงมดลูก เนื่องจากเป็นวิธีที่สามารถมองเห็นได้โดยตรง
ในรายที่มีปัญหาเรื่องภาวะมีบุตรยาก อาจเกิดจากความไม่สมดุลของระบบฮอร์โมน ซึ่งรบกวนการตกไข่และการผลิตอสุจิ ในกรณีที่จำเป็นต้องตรวจจะมีการตรวจประเมินการทำงานของต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง รังไข่และอัณฑะ ซึ่งก็คือการตรวจระดับฮอร์โมนต่างๆในเลือด เช่น FSH, LH, Estradiol, Progesterone, ฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone), Prolactin, TSH, FT4, ACTH, Cortisol เป็นต้น สำหรับรายที่มีการตั้งครรภ์ ทางเราสามารถตรวจระดับ Beta-HCG (ฮอร์โมนที่ผลิตโดยรก) เพื่อตรวจสอบภาวะการตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ช่วงต้นซึ่งสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 1 เดือน (ช่วงที่น่าจะมีประจำเดือนรอบถัดไป) ซึ่งเร็วกว่าการใช้อุลตราซาวน์ทางช่องคลอด หรืออาจจะใช้ติดตามระดับฮอร์โมนเมื่อสงสัยว่าจะมีการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้อีกด้วย
การมาปรึกษาแพทย์ทั้งเพื่อทำความเข้าใจและตรวจหาสาเหตุเป็นครั้งแรก หรือมาปรึกษาเพื่อหาความคิดเห็นอื่นๆเพิ่มเติมในกรณีที่เคยรับการรักษาจากที่อื่นมาก่อน ก็ล้วนแต่มีประโยชน์ทั้งสิ้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ในกลุ่มมีแนวโน้มว่าจะมีบุตรยากเนื่องจากพยายามมีบุตรมานาน หรือเคยรับการรักษาเรื่องภาวะมีบุตรยากมาแล้วก็ตาม ภาวะการมีบุตรยากเปรียบเหมือนการเดินทางที่อาจจะยากลำบากและยาวนาน อาจต้องเจอกับอุปสรรคต่างๆ ที่ไม่คาดคิดหรือผลลัพธ์ที่ทำให้ผิดหวัง แต่การเดินทางก็มีหลายเส้นทางที่สามารถทำให้ไปถึงจุดหมายที่คุ้มค่าได้ ทางเราทราบดีถึงจุดนี้จึงมีแนวทางที่จะหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดต่อคู่สมรสแต่ละคู่ จากทั้งข้อมูลส่วนตัว ประวัติทางการแพทย์ งบประมาณและปัจจัยทางสังคม